Image
Image
Image
Image

ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมาของกองกุมารเวชกรรมและภาควิชากุมารเวชศาสตร์

ความเป็นมาของกองกุมารเวชกรรมและการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

Image
กองเสนารักษ์ในพระราชวังพญาไท กำเนิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2475 และได้มีความเจริญเติบโตจนเป็นโรงพยาบาลได้รับพระบรมราชานุญาติให้ขนานนามว่า “ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ” ประกอบด้วยแผนกหลักๆ คือ แผนกอายุรกรรม แผนกศัลยกรรม แผนกสูตินารีเวชกรรม และ แผนกรังสีกรรม ในปี พ.ศ.2495 ซึ่งเป็นปีที่ถือกำเนิดของงานกุมารเวชกรรมกองทัพบก เมื่อพันโท พร พิศกนก (ยศขณะนั้น ) หัวหน้าแผนกอายุรกรรมได้แบ่งแยกการดูแลผู้ป่วยออกหลายสาขา โดย ให้แพทย์แต่ละคนเป็นผู้รับผิดชอบประกอบด้วยสาขาอายุรกรรม โรคผิวหนัง โรคทางเดินอาหาร โรคหัวใจ และโรคเด็ก มีเตียงผู้ป่วยเด็กจำนวนไม่มากอยู่ที่หอผู้ป่วยอายุรกรรมหญิง ซึ่งเรียกว่า “ หมวด 9 ” เป็นเรือนครึ่งตึกครึ่งไม้สองชั้น ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระที่นั่งศรีสุทธ นิวาศน์ ต่อมาได้ถูกรื้อถอนแล้วสร้างเป็นตึกธนาคารออมสินให้เป็นหอพักพยาบาลในปี พ.ศ.2507 ปัจจุบันได้ปรับเป็นพื้นที่เป็นส่วนหนึ่งของสนามหน้าพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
Image

ร้อยเอกประณต โพธิทัต ( ยศปัจจุบัน พลโท อดีตเจ้ากรมแพทย์ทหารบก ) ได้รับมอบหมายให้ดูแลผู้ป่วยเด็กร่วมกับโรคทางเดินอาหารที่ท่านมีความสนใจอยู่จึงนับว่าเป็นกุมารแพทย์รุ่นบุกเบิกคนแรกของกองทัพบก ขณะนั้นท่าน แพทย์หญิงสายหยุด เก่งระดมยิง กุมารแพทย์จากสหรัฐอเมริกาเป็นที่ปรึกษาซึ่งได้มาช่วยออกตรวจผู้ป่วยนอกและดูแลผู้ป่วยโดยมิได้มีตำแหน่งทางราชการแต่อย่างใด ในปี พ.ศ.2498 ร้อยโทหญิง มยุรี สุนทรเวช ( พลางกูร ) เข้ามารับราชการเป็นทหารในกรมแพทย์ทหารบก ท่านเป็นกุมารแพทย์คนแรกที่ได้รับการฝึกอบรมมาโดยเฉพาะจากประเทศอังกฤษ การรักษาพยาบาลผู้ป่วยเด็กจึงเริ่มเป็นระบบมากขึ้น พ.ศ. 2501ร้อยเอกสันต์ หาอุปละ ( ยศขณะนั้น ) กลับจากการศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ได้ช่วยอาจารย์มยุรี อยู่จนกระทั่งปี พ.ศ.2506 จึงได้ลาศึกษาต่อวิชากุมารเวชศาสตร์และโรคหัวใจในเด็ก ( Pediatric Cardiology ) ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ร้อยโทหญิง ศรีลักขณ์ ตู้จินดา ( สิมะเสถียร ) เข้ามารับราชการทหารในปี พ.ศ.2503 ช่วยดูแลผู้ป่วยหญิงและเด็ก จนถึง พ.ศ.2506 จึงได้ไปศึกษาต่อวิชากุมารเวชศาสตร์ที่สหรัฐอเมริกาอีกท่านหนึ่ง พ.ศ.2506 พันเอกชม ศรทัตต์ ( ยศขณะนั้น ยศปัจจุบัน พลโท อดีตเจ้ากรมทหารบก ) เป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้รับอนุมัติจากกองทัพบกให้ไปศึกษาต่อวิชากุมารเวชศาสตร์ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เมื่อท่านกลับมาก็มิได้ทำหน้าที่กุมารแพทย์โดยตรง เพราะยศและตำแหน่งของท่านสูงเกินอัตราแต่อาจารย์ได้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาทางด้านกุมารเวชศาสตร์อย่างสม่ำเสมอ นอกจากนั้นท่านยังเคยดำรงตำแหน่งอุปนายกสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยหลายสมัย และได้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย 2 สมัยในปี พ.ศ.2513–2515 และ พ.ศ. 2517 – 2519 เป็นเกียรติของกุมารแพทย์ทหารบกอย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังมี ร้อยโทหญิงสมวงศ์ โพธิศิริ ( โรจนวงศ์ ) เป็นแพทย์ที่มีความสนใจโรคเด็กได้ลาไปศึกษาและกลับมาช่วยงานด้วยอีกท่านหนึ่ง

Image
พ.ศ. 2507 เป็นปีแรกที่หน่วยกุมารเวชกรรมได้ยกระดับขึ้นเป็นแผนกและได้ย้ายจากหมวด 9 ขึ้นไปอยู่บนชั้น 4 ของตึกสูตินรีเวชกรรมซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จ มีพื้นที่รับผู้ป่วยเด็กได้ประมาณ 50 เตียง แผนกกุมารเวชกรรมมีความเจริญและพัฒนาขึ้น เป็นลำดับ แต่ก็ยังมีการบังคับบัญชากับกองอายุรกรรม ต่อมาได้ขยายส่วนทารกแรกเกิด ที่บริเวณชั้น 1 ตรงข้ามห้องคลอดของตึกนี้ อีกส่วนหนึ่ง
Image
ด้วยความพยายามที่จะมีสถานที่ของตนเองให้เป็นส่วน ในปี พ.ศ. 2515 อาจารย์สันต์ หาอุปละ ได้เข้ากราบเรียน จอมพล ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมถึงความจำเป็นในการมีอาคาร ซึ่งท่านได้รับหลักการ โดยมีแนวความคิดจะก่อสร้างบริเวณทิศตะวันตก ระหว่างตึกสูตินารีเวชกรรม และ พระที่นั่งเทวราชสภารมณ์ ( โรงละคร ) ซึ่งเดิมเป็นตึกทันตกรรมชั้นเดียว ที่ได้ดัดแปลงเป็นแผนกซ่อมบำรุง แต่เนื่องจากปัญหาทางการเมือง ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 ทำให้โครงการได้ลมเลิกไป
Image
ในปี พ.ศ. 2512 แพทย์สภาได้เปิดหลักสูตรฝึกอบรมแพทย์เฉพาะทางสาขากุมารเวชกรรม ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย แผนกกุมารเวชกรรม เป็น 1 ใน 4 แผนกหลักของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าที่ได้รับอนุมัติให้มีการฝึกอบรมขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2517 ด้วยการผลักดันอย่างจริงจังของ อาจารย์ มยุรี พลางกูร ร่วมกับอาจารย์กุมารแพทย์หลังจากเริ่มมีการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน ได้มีอาจารย์กุมารแพทย์มารับราชการ ในระยะต้นหลายท่าน ได้แก่ ร้อยเอกหญิง อรอุสา ชาตินันท์ ( สัตยวนิช ) ( ยศปัจจุบันพันเอกหญิง ) ร้อยเอกหญิง วณิช วรรณพฤกษ์ (ยศปัจจุบันพลตรีหญิง ) ร้อยเอกหญิง ทิพย์ ศรีไพศาล ( ยศปัจจุบันพลโทหญิง ) พันเอกหญิง ศรีสำอางค์ แก้ววิจิตร ร้อยเอก อำนาจ บาลี ( ยศปัจจุบันพลโท ) ขณะเดียวกันวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกุฎเกล้าได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2518 โดยมีพันเอกหญิง มยุรี พลางกูร ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกกุมารเวชกรรมและหัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ หลังจาก พันเอกหญิงมยุรี พลางกูร ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการกองการศึกษาแล้ว พันเอกสันต์ หาอุปละ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าแผนกกุมารเวชกรรมคนต่อมา และ พันเอกหญิง ศรีสำอาง แก้ววิจิตร เป็นหัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ในปี พ.ศ.2527ได้มีคำสั่งกองทัพบก (เฉพาะ)ที่ 141/27 เรื่องอัตรากองทัพบก ลงวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2527 ให้ยกระดับแผนกกุมารเวชกรรมขึ้นเป็นกองกุมารเวชกรรม ( อฉก.หมายเลข 3610 ) พันเอกหญิง ศรีลักขณ์ สิมะเสถียร จึงได้เป็นหัวหน้ากองกุมารเวชกรรมคนแรก กองกุมารเวชกรรมและภาควิชากุมารเวชศาสตร์ได้รับผิดชอบการเรียนการสอนนักเรียนแพทย์ทหารในวิชากุมารเวชศาสตร์ ซึ่งเริ่มเข้าปฏิบัติงานที่กองกุมารเวชกรรมในปี พ.ศ. 2521 เป็นรุ่นแรกเนื่องจากความคับแคบของพื้นที่ปฏิบัติงาน ในปี พ.ศ. 2528… โรงพยาบาลได้ให้พื้นที่ชั้น 6 อาคารท่านผู้หญิงประภาศรี กำลังเอก ( ตึกอุบัติเหตุ ) เป็นหอผู้ป่วยพิเศษ และหอผู้ป่วยอาการหนัก และ พื้นที่ส่วนหนึ่งของชั้น ๗ เป็นสำนักงานของกุมารแพทย์แต่ยังไม่เพียงพอกับภาระงานที่ต้องรับผิดชอบ
Image
อาจารย์กุมารแพทย์หลายท่าน อาทิ เช่น อาจารย์ มยุรี พลางกูร อาจารย์ สันต์ หาอุปละ อาจารย์ วณิช วรรณพฤกษ์ อาจารย์ อำนาจ บาลี และ อาจารย์ ทิพย์ ศรีไพศาล จึงได้เริ่มโครงการสร้างตึกกุมารขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2529 โดยมีแผนที่จะก่อสร้างบริเณแนวตึกมานะธรรม ซึ่งกรมแพทย์กำหนดให้เป็นแผนระยะยาว จึงยังไม่ได้มีการเริ่มดำเนินการ ขณะเดียวกันอาจารย์ อำนาจ บาลี และ อาจารย์ สรีลักขณ์ สิมะเสถียร ได้ริเริ่มก่อตั้ง “ กองทุนตึกกุมาร ” โดยรวบรวมเงินจากกิจกรรมที่จัดขึ้น ร่วมกับเงินบริจาคจากกองทุนมรดกของ พลตรี ฟื้น อัตถะโยธิน ก่อตั้งเป็น มูลนิธิกุมารโรงพยาบาล พระมงกุฎเกล้า ในปี พ.ศ. 2530 ต่อมา พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาทินัดดามาตุ ได้ประทานพระอนุญาตให้ พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เป็นองค์อุปถัมภ์ฯ เมื่อ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 ในวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2534 คณะกรรมการมูลนิธิกุมารฯ ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าวรวงค์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ และ พระองค์เจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา องค์อุปถัมภ์มูลนิธิฯ พระองค์ทรงปรารภว่า โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า น่าจะมีตึกที่ให้การบริการผู้ป่วยเด็กโดยเฉพาะ พร้อมกันนั้นได้ประทานพระอนุญาตให้ใช้พระนามของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เป็นชื่ออาคารผู้ป่วย และทรงประทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นสิริมงคลเพื่อดำเนินการในการก่อสร้างตึกเด็กคณะอาจารย์กุมารแพทย์ร่วมกับมูลนิธิกุมารฯ จึงได้เริ่มผลักดันโครงการอาคารพัชรกิติยาภาขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยร่วมกับหน่วยงานเอกชนหลายหน่วยงานที่มีจิตศรัทธา ( รายละเอียดอ่านได้จาก “ อาคารพัชรกิติยาภา ความภาคภูมิใจของกุมารแพทย์กองทัพบก ”)โดยมีหนังสือขออนุมัติโครงการในเดือนกันยายน พ.ศ. 2534 ซึ่งกองทัพบกได้เล็งเห็นความสำคัญของโครงการนี้ “ โครงการอาคารพัชรกิติยาภา ” จึงได้รับอนุมัติให้ดำเนินการโดยใช้งบประมาณของทางราชการ ซึ่งได้ก่อสร้างในบริเวณที่ตั้งของอาคาร 3 หลัง คือ ตึกสุทธิสาวรรณกร ตึกจรูญจิตร์นิรันดร และ ตึกสมเด็จพระสังฆราช กิตติโสภณ ส่วนเงินบริจาคได้นำมาใช้ในการตกแต่งปรับปรุงพื้นที่ให้มีความเหมาะสมในการปฏิบัติงานร่วมกับจัดหาเครื่องมือแพทย์บางส่วน เมื่ออาคารพัชรกิติยาภาเสร็จสมบรูณ์ในปี พ.ศ. 2540 กองการกุมารเวชกรรมและภาควิชากุมารเวชศาสตร์ได้เข้าทำงานในวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2540และพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาได้เสด็จมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคาร เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2542 หลังจากนั้นได้มีการขยายหน่วยงานเฉพาะอีกหลายหน่วย เช่น ศูนย์ปลูกถ่ายไขกระดูก ( เสต็มเซลล์ ) ของหน่วยโลหิตวิทยา เพื่อให้การรักษาโรคเลือดและมะเร็งในเด็กที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิธีการปกติ ห้องล้างไตของหน่วยไตที่ได้ให้บริการทั้งเด็กและผู้ใหญ่ รวมทั้งห้อง ไอ ซี ยู ที่มีเครื่องมือที่ทันสมัย ปัจจุบันกองกุมารเวชกรรมประกอบด้วยหน่วยงานเฉพาะสาขารวม ๑๗ หน่วยงานใหม่เพิ่มขึ้นได้แก่ หน่วยโรคระบบทางเดินอาหาร หน่วยพัฒนาการเด็ก มีกุมารแพทย์ปฎิบัติงาน ทั้งในอัตรากองกุมารเวชกรรม ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ รวมอาจารย์ช่วยราชการ และ อาจารย์ที่ปรึกษาทั้งสิ้น 38 คน
Image
นอกจากความเจริญในงานรักษาพยาบาลผู้ป่วยแล้ว การพัฒนาในฐานะสถานฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขากุมารเวชศาสตร์ หลังจากแพทย์สภาอนุมัติเปิดการฝึกอบรมเพื่อวุฒิบัตรสาขากุมารเวชศาสตร์โดยมีแพทย์ประจำบ้านเข้ารับการอบรมจากปีละ 3 คน เป็น 5 คน ต่อมา 7 คน และล่าสุดเพิ่มเป็น 8 คนในปีการศึกษา 2548 การจัดการเรียนการสอนจะจัดให้แพทย์ประจำบ้านปี 1 ดูแลรับผิดชอบผู้ป่วยเด็กที่อยู่ตามหอต่างๆ หมุนเวียนการออกตรวจเด็กทั่วไปและเด็ก well baby อยู่เวรดูแลผู้ป่วยภายในและรับปรึกษาจากห้องฉุกเฉิน ในการเรียนในปี 2 และปี 3 มีโอกาสได้เลือกไปเรียนวิชาเลือกเพิ่มเติมตาม โรงพยาบาลต่างๆ เพื่อเพิ่มเติมประสบการณ์เรียนรู้ ที่ รพ. ศิริราช รพ. รามาธิบดี รพ.จุฬาลงกรณ์ และ รพ.มหาราชนครราชสีมา ในการฝึกอบรมฯ ได้ยึดถือตามหลักสูตรของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และจัดให้มีการพัฒนาหลักสูตรทุก 5 ปี และในปี 2549 กองกุมารเวชกรรมได้ผ่านการประเมินจากคณะกรรมการประกันคุณภาพการศึกษาของโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าในระดับดีเยี่ยมและยังได้มีการฝึกอบรมแพทย์ต่อยอด จากเดิม 4 อนุสาขา ได้แก่ โรคเลือด โรคระบบหายใจ โรคไต โรคหัวใจ โดยในปีการศึกษา 2548 เพิ่มอีก 5 อนุสาขาคือโรคติดเชื้อ พัฒนาการเด็ก ประสาทวิทยา ทารกแรกเกิดและ ต่อมไร้ท่อ
Image
ในปัจจุบัน ( พ.ศ. 2550 ) มีผู้จบการศึกษาเป็นศิษย์เก่าแพทย์ประจำบ้านกุมารฯ จำนวน 159 คน ได้แยกย้ายกันไปปฎิบัติงานทั่วประเทศ ทั้งในกองทัพบก กองทัพอากาศ กองทัพเรือ ภาคเอกชน โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธรณสุข และทบวงมหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2548 ได้มีการจัดตั้งชมรมศิษย์เก่ากุมารแพทย์ รพ.พระมงกุฎเกล้า ขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางประสานงาน ให้เกิดความสามัคคี ร่วมใจในการทำประโยชน์ต่อสังคม ส่วนรวม ช่วยดำรงวิชาชีพสาขากุมารเวชศาสตร์ และสร้างชื่อเสียงให้สถาบันแห่งนี้ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนต่อไป

เส้นทางของสาขากุมารแพทย์กองทัพบกที่ก้าวข้ามกึ่งศตวรรษ ที่ผ่านมาได้มีการเจริญเติบโตตามลำดับอย่างมั่นคง มีศักดิ์ศรี ด้วยคุณูปการของอาจารย์กุมารแพทย์ผ้ก่อตั้งและบุกเบิกในอดีต สานต่อด้วยความมุ่งมั่นและความสามัคคี ของกุมารแพทย์ในปัจจุบันเพื่อนำพาให้การดูแลผู้ป่วยเด็ก และเยาวชนของประเทศไทยให้มีความก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมไทยตลอดไป